ฟิลเลอร์ คืออะไร? เติมตรงไหนได้บ้าง อยู่ได้นานแค่ไหน เลือกยี่ห้อไหนดี
หากคุณกำลังรู้สึกว่าใบหน้าดูเหนื่อยล้า มีร่องลึก ผิวดูแบน ขาดมิติ หรือรูปหน้าไม่สมส่วนเหมือนเดิม… ฟิลเลอร์ อาจเป็นคำตอบที่ช่วยคืนความสดใสและความมั่นใจให้คุณได้โดยไม่ต้องผ่าตัด
บทความนี้ หมอจะพาคุณทำความเข้าใจทุกเรื่องเกี่ยวกับฟิลเลอร์ ตั้งแต่หลักการทำงาน ตำแหน่งที่ฉีดได้ ยี่ห้อไหนดี อยู่ได้นานแค่ไหน ไปจนถึงวิธีดูแลตัวเองอย่างปลอดภัย เพื่อให้คุณตัดสินใจได้อย่างมั่นใจ และได้ผลลัพธ์ที่สวยพอดีอย่างที่ต้องการครับ
ฟิลเลอร์ คืออะไร?
ฟิลเลอร์ (Filler) คือสารเติมเต็มที่แพทย์ผิวหนังและแพทย์ด้านความงามใช้ในการฉีดเข้าสู่ผิวหนัง เพื่อช่วยเติมเต็มในส่วนที่มีปัญหาหย่อนคล้อย ร่องลึก หรือขาดวอลลุ่ม เช่น ร่องแก้ม ใต้ตา ขมับ หรือแม้กระทั่งการปรับรูปหน้าให้ดูละมุนและอ่อนเยาว์มากขึ้น
โดยฟิลเลอร์ที่ได้รับความนิยมและปลอดภัยที่สุดในปัจจุบันคือ Hyaluronic Acid (HA) ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในร่างกายตามธรรมชาติ มีคุณสมบัติในการกักเก็บความชุ่มชื้นได้ดี และสามารถสลายได้เองโดยไม่ทิ้งสารตกค้าง

ฟิลเลอร์มีกี่ประเภท?
ในทางการแพทย์ ฟิลเลอร์สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท แต่ประเภทที่ใช้ในคลินิกความงามหลักๆ มีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- ฟิลเลอร์ HA (Hyaluronic Acid): เป็นฟิลเลอร์ที่นิยมมากที่สุด เพราะปลอดภัย สลายเองได้ตามธรรมชาติ และหากเกิดปัญหาก็สามารถฉีดยาสลาย (Hyaluronidase) ได้ทันที
- ฟิลเลอร์ชนิดกึ่งถาวรหรือถาวร: เช่น Calcium Hydroxylapatite หรือ Poly-L-lactic Acid แม้จะอยู่ได้นานกว่า แต่ไม่สามารถสลายได้ด้วยยา จึงมีความเสี่ยงสูงกว่าสำหรับผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์
จากประสบการณ์ที่หมอดูแลคนไข้มาหลายเคส ฟิลเลอร์แบบ HA เป็นตัวเลือกที่หมอแนะนำมากที่สุด โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้น หรืออยากได้ผลลัพธ์แบบธรรมชาติและปลอดภัย
ฟิลเลอร์ต่างจากโบท็อกซ์ยังไง?
หลายคนยังสับสนระหว่าง “ฟิลเลอร์” กับ “โบท็อกซ์” ซึ่งจริงๆ แล้วทำหน้าที่ต่างกันครับ
- ฟิลเลอร์ = เติมเต็ม (เติมร่องลึก ปรับรูปหน้าให้ดูมีวอลลุ่ม)
- โบท็อกซ์ = ลดการทำงานของกล้ามเนื้อ (ลดริ้วรอย, หน้าเรียวด้วยการลดกล้ามเนื้อกราม)
ดังนั้น หากคุณมีปัญหาร่องลึก หน้าตอบ หรือผิวดูโทรม หมอจะแนะนำให้ฉีดฟิลเลอร์ก่อนครับ
ฟิลเลอร์ช่วยเติมตรงไหนได้บ้าง?
จริงๆ แล้ว “ฟิลเลอร์” ถือเป็นตัวช่วยที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก เพราะสามารถเติมได้หลายจุดบนใบหน้าและลำตัว โดยจุดประสงค์หลักคือการ เติมเต็มร่องลึก เพิ่มวอลลุ่ม และปรับรูปหน้าให้สมส่วน อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งบริเวณที่นิยมฉีดฟิลเลอร์ในปัจจุบัน ได้แก่:
ฟิลเลอร์ใต้ตา
ฟิลเลอร์ใต้ตา ช่วยลดร่องลึก ความหมองคล้ำ และอาการตาดูโทรม ทำให้ใบหน้าดูสดใสขึ้นทันที เหมาะมากกับคนที่พักผ่อนน้อย หรือมีเบ้าตาลึกตามกรรมพันธุ์
ฟิลเลอร์ร่องแก้ม
เติมเต็มร่องแก้มที่ลึกตามวัย ช่วยให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ขึ้น และลดภาพลักษณ์ความเหนื่อยล้า เหมาะกับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
ฟิลเลอร์ขมับ
คนที่มีปัญหาขมับตอบหรือขมับลึก จะทำให้หน้าดูแข็งและมีอายุ การเติมขมับช่วยปรับรูปหน้าให้ดูละมุนและสมดุลมากขึ้น
ฟิลเลอร์หน้าผาก
หน้าผากแบนหรือมีรอยยุบ สามารถเติมให้ดูโหนกนูนอย่างเป็นธรรมชาติ เพิ่มมิติใบหน้า ทำให้หน้าหวานขึ้นได้ชัดเจน
ฟิลเลอร์คาง
ใช้ปรับรูปหน้าให้สมส่วน ใครที่มีคางสั้น คางตัด หรือรูปหน้าดูไม่ชัดเจน การเติมฟิลเลอร์คางสามารถช่วยให้ใบหน้าดูเรียวขึ้นโดยไม่ต้องผ่าตัด
ฟิลเลอร์ปาก
เติมวอลลุ่มให้ปากอวบอิ่ม หรือปรับทรงให้ปากมีความสมดุลและเป็นธรรมชาติ เช่น ทรงปากกระจับหรือปากสายฝอ
ฟิลเลอร์จมูก
แม้ไม่สามารถแทนการศัลยกรรมได้ 100% แต่ฟิลเลอร์ช่วยปรับรูปจมูกให้ดูโด่งเรียว มีสันชัดเจนขึ้นได้ เหมาะกับคนที่ไม่อยากผ่าตัด
ฟิลเลอร์ร่องน้ำหมาก / ร่องตีนกา
ลดความลึกของริ้วรอยที่แสดงอายุโดยเฉพาะบริเวณร่องน้ำหมาก รอยย่นตรงมุมปาก และรอบดวงตา
ฟิลเลอร์หลังมือ
เติมเต็มหลังมือที่ผิวบาง เห็นเส้นเลือดชัด ให้กลับมาดูอิ่มฟูและอ่อนเยาว์ขึ้น เป็นอีกจุดที่หลายคนเริ่มให้ความสนใจในช่วงวัย 40+
ฟิลเลอร์ยี่ห้อไหนดี? เหมาะกับบริเวณไหน?
การเลือก ฟิลเลอร์ ให้เหมาะกับแต่ละตำแหน่งบนใบหน้า ไม่ใช่แค่เรื่องของ “ราคา” หรือ “ยี่ห้อดัง” เท่านั้น แต่ต้องพิจารณาจาก “เนื้อฟิลเลอร์” ว่าเหมาะกับบริเวณที่ฉีดหรือไม่ และความเชี่ยวชาญของแพทย์ในการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับโครงหน้าของคนไข้แต่ละคน
Juvederm® (อเมริกา)
- คุณสมบัติ: เนื้อฟิลเลอร์นุ่มลื่น ให้ผลลัพธ์เนียนเรียบ ชุ่มน้ำดีมาก อยู่ได้นาน 12-18 เดือน
- รุ่นยอดนิยม:
- Voluma: เนื้อแข็งเล็กน้อย เหมาะกับโหนกแก้ม ขมับ คาง
- Volift: เนื้อกลางๆ ใช้กับร่องแก้ม ขอบปาก
- Volbella: เนื้อนิ่มพิเศษ เหมาะสำหรับใต้ตา ปาก ร่องเล็กๆ
- เหมาะกับ: ใต้ตา แก้มส้ม ร่องแก้ม คาง ขมับ หน้าผาก ปาก
Restylane® (สวีเดน)
- คุณสมบัติ: เนื้อฟิลเลอร์ละเอียด คงตัวได้ดี เหมาะกับการขึ้นรูปแบบละเอียด
รุ่นยอดนิยม:- Lyft: เหมาะกับจุดที่ต้องการการยกกระชับ เช่น โหนกแก้ม คาง
- Defyne/Refyne: เนื้อนิ่มปานกลาง เหมาะกับร่องแก้ม ร่องน้ำหมาก
- Vital: ฟื้นฟูผิว เติมน้ำ เหมาะกับผิวแห้งหรือริ้วรอยตื้นๆ
- เหมาะกับ: ใต้ตา ร่องแก้ม ร่องน้ำหมาก ปาก แก้ม หน้าผาก
Belotero® (เยอรมัน)
- คุณสมบัติ: เนื้อนิ่มละเอียดมาก ฟูเป็นธรรมชาติ ซึมเข้าผิวได้ดี
- รุ่นยอดนิยม:Soft / Balance / Intense: แยกตามความแน่นของเนื้อ เหมาะกับตำแหน่งผิวบาง เช่น ใต้ตา ร่องลึกเล็ก
- เหมาะกับ: ใต้ตา ร่องแก้ม ปาก รอยตีนกา
Neuramis® (เกาหลี)
- คุณสมบัติ: ฟิลเลอร์เกาหลีคุณภาพดี ราคาย่อมเยา เหมาะกับผู้เริ่มต้น
- รุ่นยอดนิยม: Deep / Volume: เหมาะกับคาง แก้ม ขมับ ร่องลึก
- เหมาะกับ: แก้ม คาง ร่องแก้ม ปาก (ต้องใช้กับแพทย์ที่มีประสบการณ์เพื่อควบคุมผลลัพธ์ให้แม่นยำ)
Revolax®, Dermalax®, E.P.T.Q. (ฟิลเลอร์เกาหลีอื่นๆ)
- คุณสมบัติ: ราคาประหยัด นิยมในกลุ่มเริ่มต้น มีหลายรุ่นตามความแน่นของเนื้อ
- เหมาะกับ: เติมแก้ม คาง ร่องแก้มแบบเบาๆ (ระยะเวลาคงอยู่ประมาณ 6-8 เดือน)
ฟิลเลอร์อยู่ได้นานแค่ไหน?
ระยะเวลาของฟิลเลอร์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การดูแลตัวเอง การใช้ชีวิตประจำวัน ฯลฯ ซึ่งแตกต่างกันออกไป โดยค่าเฉลี่ยแต่ยี่ห้อจะมีระยะเวลาโดยประมาณดังนี้
ยี่ห้อฟิลเลอร์ | อายุเฉลี่ยที่อยู่ได้ |
---|
Juvederm® Voluma | 12 – 18 เดือน |
Juvederm® Volift | 12 เดือน |
Juvederm® Volbella | 9 – 12 เดือน |
Restylane® Lyft | 10 – 14 เดือน |
Restylane® Vital | 6 – 9 เดือน (ใช้ฟื้นฟูผิว) |
Belotero® Soft | 6 – 9 เดือน |
Neuramis® Deep/Volume | 6 – 9 เดือน |
ฟิลเลอร์เกาหลีทั่วไป | 4 – 8 เดือน (ขึ้นกับเนื้อและแบรนด์) |
ข้อมูลนี้เป็นค่าเฉลี่ยจาก Clinical Studies และประสบการณ์จริงของแพทย์ในคลินิกครับ
ปัจจัยที่มีผลต่ออายุของฟิลเลอร์
- ยี่ห้อและรุ่นของฟิลเลอร์ ฟิลเลอร์แต่ละรุ่นมีความหนาแน่นของโมเลกุลไม่เท่ากัน ซึ่งส่งผลโดยตรงกับความทน
- ตำแหน่งที่ฉีด บริเวณที่ “ขยับบ่อย” เช่น ปาก ร่องแก้ม ฟิลเลอร์จะสลายเร็วกว่าบริเวณนิ่งๆ อย่าง ขมับ คาง ใต้ตา ฟิลเลอร์มักอยู่ได้นานกว่าจุดอื่น เพราะไม่ขยับมาก
- การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การออกกำลังกายหนัก, ทำทรีตเมนต์ความร้อน, หรือพฤติกรรมที่ทำให้เผาผลาญไว จะเร่งการสลายตัวของฟิลเลอร์
- การดูแลหลังฉีด หลีกเลี่ยงความร้อนจัด นวดแรง หรือดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 48 ชั่วโมงแรก จะช่วยยืดอายุของฟิลเลอร์ได้ดี
ถึงแม้ฟิลเลอร์จะสลายไปเอง แต่บางคนอาจเลือกเติมซ้ำก่อนที่ฟิลเลอร์จะหมด 100% เพื่อคงผลลัพธ์ให้สวยเนียนต่อเนื่อง ซึ่งการเติมซ้ำในปริมาณน้อยและถูกจังหวะ จะช่วยให้รูปหน้าดูเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น และไม่ต้องเติมเยอะในคราวเดียว
เลือกฟิลเลอร์ยังไงให้เหมาะกับปัญหาของตัวเอง?
การเลือก ฟิลเลอร์ ที่เหมาะสม ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ “อยากฉีดตรงไหน” เท่านั้น แต่ต้องพิจารณาจาก
- ปัญหาเฉพาะของแต่ละคน
- ลักษณะเนื้อฟิลเลอร์ (นิ่ม-แน่น-ยืดหยุ่น)
- ตำแหน่งที่ต้องการฉีด
- คาดหวังผลลัพธ์แบบไหน
เพราะแต่ละจุดบนใบหน้ามี "โครงสร้างผิว" ที่ต่างกัน ฟิลเลอร์ที่เหมาะกับใต้ตาอาจไม่เหมาะกับคาง หรือฟิลเลอร์ที่อยู่ได้นานในขมับ อาจทำให้ปากดูแข็งไม่เป็นธรรมชาติครับ
ฟิลเลอร์เนื้อนิ่ม: สำหรับผิวบาง จุดเสี่ยงสูง
- เหมาะกับ: ใต้ตา, ริมฝีปาก, หน้าผาก, รอยตีนกา
- คุณสมบัติ: กระจายตัวได้ดี เนียน ไม่เป็นก้อน
- แนะนำฟิลเลอร์: Juvederm Volbella, Belotero Soft, Restylane Vital / Kysse
ฟิลเลอร์เนื้อกลาง: สำหรับร่องลึกทั่วไป
- เหมาะกับ: ร่องแก้ม, ร่องน้ำหมาก, มุมปาก
- คุณสมบัติ: คงรูปได้ดี ขยับตามการแสดงสีหน้าได้อย่างเป็นธรรมชาติ
- ตัวอย่างฟิลเลอร์: Juvederm Volift, Restylane Refyne/Defyne, Neuramis Deep
ฟิลเลอร์เนื้อแน่น: สำหรับปรับโครงหน้า
- เหมาะกับ: คาง, ขมับ, โหนกแก้ม, กรอบหน้า
- คุณสมบัติ: ให้มิติชัดเจน ยกกระชับ อยู่ได้นาน
- ตัวอย่างฟิลเลอร์: Juvederm Voluma, Restylane Lyft, Neuramis Volume
กรณีปัญหาเฉพาะจุด
ปัญหา | บริเวณที่แนะนำ | ประเภทฟิลเลอร์ |
---|
ใต้ตาคล้ำลึก | ใต้ตา | เนื้อนิ่มพิเศษ (Belotero Soft, Volbella) |
หน้าตอบ | ขมับ | เนื้อแน่น (Voluma, Lyft) |
คางสั้น หน้าไม่เรียว | คาง | เนื้อแน่น (Voluma, Neuramis Volume) |
ร่องลึก แก้มแบน | ร่องแก้ม แก้มส้ม | เนื้อกลาง (Volift, Refyne) |
ปากบาง ปากแห้ง | ริมฝีปาก | เนื้อนิ่ม (Volbella, Kysse) |
หน้าผากแบน | หน้าผาก | เนื้อนิ่มพิเศษ (Restylane Vital, Belotero) |
อย่าเลือกฟิลเลอร์จาก “โปรโมชัน” หรือ “ยี่ห้อเดียวฉีดทั่วหน้า” เพราะแต่ละตำแหน่งต้องใช้ฟิลเลอร์ที่ “ตรงชนิด” ถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีและปลอดภัยครับ หมอจะเป็นคนวางแผนให้คุณเหมาะกับแต่ละตำแหน่งโดยเฉพาะ เพื่อให้ผลออกมา “เป็นธรรมชาติแบบที่คุณอยากได้จริงๆ”
ใครบ้างที่เหมาะกับการฉีดฟิลเลอร์?
จริงๆ แล้ว การฉีดฟิลเลอร์ไม่ใช่เรื่องของ "อายุ" เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับ ลักษณะของปัญหาบนใบหน้า และความคาดหวังของคนไข้ มากกว่า
- คนที่เริ่มมี “ริ้วรอย” หรือ “ร่องลึก” บนใบหน้า หากคุณเริ่มสังเกตเห็น ร่องลึกเล็กๆ ใต้ตา ร่องแก้ม หรือผิวหน้าเริ่มขาดความชุ่มชื้น อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการเติมฟิลเลอร์ เพื่อ ชะลอการยุบตัวของผิว และรักษาความอ่อนเยาว์ไว้ได้นานขึ้น
- คนที่มีปัญหาโครงหน้าไม่สมดุลมาตั้งแต่กำเนิด บางคนไม่ได้มีริ้วรอย แต่รู้สึกว่ารูปหน้าดูไม่สมดุล เช่น หน้าผากแบน คางสั้น ขมับตอบ ฟิลเลอร์สามารถช่วยปรับรูปหน้าให้สมดุลขึ้นได้ โดยไม่ต้องพึ่งการศัลยกรรม
- คนที่ต้องการเปลี่ยนลุคอย่างเป็นธรรมชาติ ฟิลเลอร์เหมาะมากสำหรับคนที่ต้องการ “ปรับลุค” โดยยังคงความเป็นตัวเอง เช่น เติมปากให้ดูอวบอิ่ม เติมคางให้หน้าดูเรียวขึ้น หรือเติมแก้มให้หน้าดูหวานขึ้น โดยไม่ดูโป๊ะหรือเวอร์เกินจริง
- คนที่มีไลฟ์สไตล์เร่งรีบ ไม่อยากพักฟื้น หัตถการนี้ตอบโจทย์สำหรับคนที่ไม่มีเวลาพักฟื้น เช่น คนทำงานที่ต้องพบลูกค้าตลอดเวลา หรือคุณแม่ที่มีเวลาจำกัด เพราะหลังทำสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเห็นผลได้ทันที
- คนที่ต้องใช้หน้าตาในการทำงาน กลุ่มอาชีพที่ต้องพึ่งบุคลิกภาพ เช่น พิธีกร นักแสดง เซลล์ โค้ช หรือที่ปรึกษา มักเลือกใช้ฟิลเลอร์เพื่อเสริมความมั่นใจให้กับใบหน้า โดยไม่ต้องแต่งหน้าเยอะหรือเปลี่ยนโครงหน้าจนดูไม่เป็นธรรมชาติ
- คนที่ต้องการแก้ไขผลลัพธ์จากหัตถการเดิม บางคนเคยฉีดฟิลเลอร์มาก่อนแล้วรู้สึกว่าใบหน้าเปลี่ยนไป หรือไม่ชอบผลลัพธ์เดิม การกลับมาวางแผนใหม่กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วย “แก้ไข” และ “ปรับรูปหน้า” ให้คืนกลับสู่ความเป็นธรรมชาติได้อีกครั้ง
ฟิลเลอร์ช่วยเรื่องอะไรได้บ้าง?
- ฟื้นฟูวอลลุ่มที่หายไปจากการยุบตัวของไขมันบนใบหน้า เมื่ออายุมากขึ้น ไขมันบนใบหน้าจะค่อยๆ ยุบตัวลง โดยเฉพาะบริเวณแก้ม ขมับ ใต้ตา ซึ่งทำให้ใบหน้าดูโทรมและมีอายุ ฟิลเลอร์ช่วยคืนความอิ่มฟูให้ผิวหน้ากลับมาดูเด็กและสดใสได้ทันที
- เติมเต็มร่องลึกและริ้วรอยแบบไม่ต้องผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นร่องแก้ม ร่องน้ำหมาก หรือริ้วรอยรอบดวงตา ฟิลเลอร์สามารถช่วยเติมเต็มให้ผิวบริเวณนั้นดูตื้นขึ้น ทำให้ใบหน้าดูเรียบเนียนขึ้นโดยไม่ต้องทำศัลยกรรม
- ปรับมิติใบหน้าให้ดูสมดุลและละมุนขึ้น ฟิลเลอร์ช่วยสร้างความสมดุลของใบหน้า เช่น การเติมคางให้ใบหน้าดูเรียวยาว หรือเติมหน้าผากให้หน้าดูหวานขึ้น รวมถึงปรับจุดเล็กๆ เช่น ขอบปากหรือแนวกรอบหน้าให้ดูชัดและละมุนขึ้น
- แก้ปัญหาแสงเงาบนใบหน้าที่ทำให้ดูโทรม บางจุดบนใบหน้าเมื่อยุบตัวลงจะเกิดเงาที่ทำให้หน้าดูเหนื่อยล้า เช่น เงาใต้ตา ร่องแก้ม หรือขมับตอบ ฟิลเลอร์ช่วยเติมให้แสงกระจายบนใบหน้าได้ดีขึ้น ทำให้หน้าดูสดใสขึ้นแม้ไม่ได้แต่งหน้า
- เสริมความมั่นใจ เพิ่มความน่าดึงดูด ฟิลเลอร์ช่วยให้คนไข้หลายคนรู้สึกมั่นใจขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าสังคม การทำงาน หรือการถ่ายรูป โดยที่ยังดูเป็นธรรมชาติ และยังคงเป็นตัวของตัวเอง
- ลดความจำเป็นในการแต่งหน้า เมื่อใบหน้าดูฟู มีวอลลุ่มและสมดุลขึ้นตามธรรมชาติ คนไข้จำนวนมากสามารถแต่งหน้าน้อยลง หรือไม่ต้องใช้เทคนิค shading / contour หนักๆ อีกต่อไป เพราะโครงหน้าดูดีตั้งแต่พื้นฐานแล้ว
ก่อนฉีดฟิลเลอร์ต้องเตรียมตัวยังไง?
การฉีดฟิลเลอร์เป็นหัตถการที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูง และมีความเกี่ยวข้องกับเส้นเลือดบนใบหน้าโดยตรง ดังนั้น การเตรียมตัวก่อนทำจึงสำคัญมาก หมอขอแนะนำข้อปฏิบัติที่ควรทำล่วงหน้าเ
- ศึกษาและเลือกสถานพยาบาลในการฉีดฟิลเลอร์ที่มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ มีเลขที่จดแจ้งชัดเจน
- งดทานยาในกลุ่ม NSAIDs และอาหารเสริมที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ควรงดก่อนทำอย่างน้อย 3 – 7 วัน ได้แก่ แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) วิตามินอี (Vitamin E), น้ำมันปลา (Fish Oil), โสม, กระเทียมสกัด, ใบแปะก๊วย เพราะสารเหล่านี้จะทำให้เลือดแข็งตัวช้า เพิ่มความเสี่ยงต่อการฟกช้ำหรือเลือดคั่งหลังฉีดครับ
- งดดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมงก่อนทำ แอลกอฮอล์จะขยายหลอดเลือดและรบกวนระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งอาจทำให้ บวม ช้ำ หรือเสี่ยงเลือดออกใต้ผิวหนัง ได้ง่ายกว่าปกติ
- งดทรีตเมนต์ผิวแรงๆ ก่อนทำ เลี่ยงการทำเลเซอร์, HIFU, RF, IPL, Chemical Peel หรือทรีตเมนต์ที่รบกวนผิวหน้าลึกๆ อย่างน้อย 3 – 5 วันก่อนฉีด เพื่อให้ผิวแข็งแรง พร้อมรับฟิลเลอร์ได้เต็มที่ และลดความเสี่ยงต่อการระคายเคือง
- พักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายต้องพร้อม มคนไข้ที่นอนน้อย หรือกำลังไม่สบาย อาจมีภูมิต้านทานต่ำ ทำให้ บวมง่าย ฟื้นตัวช้า หรือเสี่ยงติดเชื้อ ได้ง่ายกว่าปกติ หมอแนะนำให้นอนพักให้เต็มที่อย่างน้อย 1 คืนก่อนวันฉีดครับ
- งดแต่งหน้าหรือทาครีมในวันที่นัดทำ เพื่อความสะอาดและปลอดภัยสูงสุด ควรมาด้วยใบหน้าสะอาด ไม่ควรทารองพื้น กันแดด หรือครีมบำรุงหนาๆ เพราะอาจปนเปื้อนในจุดที่ฉีด และเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้หากทาครีมหรือแต่งหน้ามา ควรแจ้งให้หมอคลีนหน้าก่อนฉีด
ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์เป็นยังไง?
- ประเมินใบหน้าอย่างละเอียดก่อนทำ แพทย์จะประเมินลักษณะโครงหน้า ปัญหาที่ต้องการแก้ไข และสภาพผิว วางแผนว่า ควรฉีดจุดไหนบ้าง ใช้ปริมาณกี่ cc เหมาะกับฟิลเลอร์รุ่นไหน และจะอธิบายผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เวอร์จนเกินจริง หากมีโรคประจำตัวควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการทำหัตถการ
- ทำความสะอาดผิวหน้าและแปะยาชา เจ้าหน้าที่จะล้างหน้าและแปะยาชาให้ทั่วบริเวณที่จะฉีด โดยใช้เวลาประมาณ 30–45 นาที ยาชาช่วยลดความรู้สึกเจ็บ ทำให้คนไข้รู้สึกสบายระหว่างทำ
- ฉีดฟิลเลอร์: ระหว่างฉีดจะรู้สึกเพียงแรงกดเล็กน้อย โดยทั่วไป ใช้เวลาฉีด 10 – 30 นาที/ตำแหน่ง แล้วแต่ความซับซ้อน
- เช็กความสมดุลและเกลี่ยฟิลเลอร์ หลังฉีดเสร็จ แพทย์จะปรับเล็กน้อยหากจำเป็น เช่น ตรวจดูความสมมาตรของใบหน้า นวดเบาๆ เพื่อให้ฟิลเลอร์กระจายตัวเรียบเนียน
- ถ่ายภาพ Before – After และนัดติดตามผล คลินิกส่วนใหญ่จะมีการถ่ายภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังฉีด บางกรณีแพทย์อาจนัดติดตามผลใน 1–2 สัปดาห์ เพื่อประเมินผลลัพธ์ หรือเติมเพิ่มหากจำเป็น
หลังฉีดฟิลเลอร์ ดูแลตัวเองยังไง?
แม้การฉีดฟิลเลอร์จะไม่ต้องพักฟื้น แต่การดูแลตัวเองในช่วง 24–72 ชั่วโมงแรก ถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นช่วงที่เนื้อฟิลเลอร์กำลังเซ็ตตัว หากดูแลไม่ถูกต้อง อาจเกิดอาการบวม ช้ำ หรือผลลัพธ์ไม่ตรงตามที่ต้องการ
สิ่งที่ควรทำหลังฉีดฟิลเลอร์
- ประคบเย็นเบาๆ ใน 24 ชั่วโมงแรก และดื่มน้ำใบบัวบก หรือน้ำฟักทองได้ เพื่อช่วยลดอาการบวมแดง และลดการอักเสบเล็กน้อยหลังทำ
- ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ โดยเฉพาะหากฉีดฟิลเลอร์ชนิด Hyaluronic Acid เพราะสารชนิดนี้สามารถดูดซับน้ำและพองตัวได้ดี การดื่มน้ำจะช่วยให้ผิวดูฟูมากขึ้น
- นอนหัวสูงในคืนแรก ช่วยลดอาการบวมและป้องกันการกดทับฟิลเลอร์โดยไม่รู้ตัว
- กลับมาพบแพทย์ตามนัด (ถ้ามี) เพื่อประเมินผลลัพธ์ และเติมเพิ่มหากจำเป็นในบางตำแหน่ง
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหลังฉีดฟิลเลอร์
- อย่าแตะหรือนวดแรงบริเวณที่ฉีด เพราะอาจทำให้ฟิลเลอร์เคลื่อนหรือผิดตำแหน่งได้
- งดการทำเลเซอร์ / RF / HIFU / ซาวน่า / โยคะร้อน อย่างน้อย 7 วัน เนื่องจากความร้อนอาจทำให้ฟิลเลอร์เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ
- งดออกกำลังกายหนัก 24–48 ชั่วโมงแรก เพื่อป้องกันการขยายตัวของหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้ช้ำมากขึ้น
- งดการดื่มแอลกอฮอล์และของหมักดอง 2-3 วันหลังฉีดฟิลเลอร์
- งดกดนวดหน้า นอนคว่ำ หรือเอาหน้าแนบหมอน อย่างน้อย 3–5 วัน เพื่อให้ฟิลเลอร์เซ็ตตัวสมบูรณ์
- งดการใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าหลังจากฉีดฟิลเลอร์ 24 ชั่วโมง
อาการบวม แดง หรือช้ำเล็กน้อยใน 1–3 วันแรกถือเป็นเรื่องปกติครับ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดมาก กดแล้วเจ็บมาก ผิวซีดหรือม่วง แนะนำให้รีบติดต่อคลินิกหรือพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนที่ต้องได้รับการดูแลเฉพาะทาง
ฟิลเลอร์ ราคาเท่าไหร่?
ราคาฟิลเลอร์ในคลินิกเสริมความงามจะแตกต่างกันไปตาม ยี่ห้อ, รุ่น, ปริมาณที่ใช้, และตำแหน่งที่ฉีด โดยทั่วไปจะคิดเป็น “ราคาต่อ 1 ซีซี (cc)”
ยี่ห้อฟิลเลอร์ | ราคาโดยประมาณ (ต่อ 1 cc) |
---|
Juvederm (USA) | 13,000 – 18,000 บาท |
Restylane (Sweden) | 12,000 – 16,000 บาท |
Belotero (Germany) | 11,000 – 15,000 บาท |
Neuramis (Korea) | 7,000 – 9,000 บาท |
Dermalax / E.P.T.Q. | 5,000 – 8,000 บาท |
ราคานี้เป็นเรตราคาโดยเฉลี่ยจากคลินิกมาตรฐานในไทย ซึ่งอาจปรับขึ้น-ลงตามโปรโมชั่นหรือเทคนิคที่ใช้
ปริมาณที่ใช้ต่อจุดฉีดยอดนิยม (ประมาณการเบื้องต้น)
- ใต้ตา: 1–2 cc
- ร่องแก้ม: 1–2 cc
- คาง: 1–2 cc
- ขมับ: 2–3 cc
- ปาก: 1–1.5 cc
- หน้าผาก: 2–4 cc
บางจุดอาจต้องใช้หลาย cc เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สมดุล เช่น ขมับหรือหน้าผาก
ปัจจัยที่มีผลต่อราคาฟิลเลอร์
- ยี่ห้อและประเทศผู้ผลิต: ฟิลเลอร์ยุโรป-อเมริกา ราคาสูงกว่าฟิลเลอร์เกาหลี แต่มีงานวิจัยรองรับมากกว่า
- ตำแหน่งที่ฉีด: จุดเสี่ยงสูง เช่น ใต้ตา หรือจุดที่ต้องการความแม่นยำสูง ราคาจะสูงขึ้นตามเทคนิค
- ประสบการณ์ของแพทย์: หมอเฉพาะทางด้านปรับรูปหน้ามักคิดค่าบริการสูงกว่าทั่วไป
- เทคนิคและเครื่องมือที่ใช้: การใช้เข็มทู่, การประเมินด้วย Face Design หรือการใช้ Ultrasound นำทางอาจเพิ่มค่าใช้จ่าย
- โปรโมชั่น/แพ็กเกจ ในแต่ละคลินิก

ฟิลเลอร์อันตรายไหม?
คำถามนี้เจอบ่อยมากครับ โดยเฉพาะกับคนที่ยังไม่เคยฉีดฟิลเลอร์มาก่อน ซึ่งหมอเข้าใจเลยครับว่าหลายคนกังวลเรื่อง “ความปลอดภัย” หรือ “จะเกิดผลข้างเคียงไหม?”
จริงๆ แล้ว ฟิลเลอร์ถือเป็นหัตถการที่ปลอดภัยสูงมาก หากทำโดยแพทย์เฉพาะทาง และใช้ฟิลเลอร์แท้ที่ผ่าน อย. อย่างไรก็ตามก็ยังมีความเสี่ยงอยู่บ้างถ้าไม่ได้ดูแลอย่างถูกวิธี
ความปลอดภัยของฟิลเลอร์อยู่ที่อะไร?
- ยี่ห้อฟิลเลอร์ ต้องใช้ฟิลเลอร์ Hyaluronic Acid (HA) ที่ได้รับการรับรองจาก อย. เท่านั้น เช่น Juvederm, Restylane, Belotero ฟิลเลอร์กลุ่มนี้สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ และมี “เอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดส” ช่วยละลายได้หากเกิดปัญหา
- เทคนิคการฉีดของแพทย์ ถ้าแพทย์เข้าใจโครงสร้างใบหน้าและตำแหน่งของเส้นเลือด จะสามารถหลีกเลี่ยงจุดเสี่ยง และใช้เทคนิคที่ลดความเจ็บ บวม ช้ำ ได้อย่างแม่นยำ
- ความสะอาดและความเป็นระบบของคลินิก คลินิกต้องได้มาตรฐาน ใช้เข็มใหม่ทุกครั้ง อุปกรณ์ปลอดเชื้อ และมีระบบติดตามผลหลังฉีด
อะไรคือความเสี่ยงถ้าทำโดยไม่ระวัง?
- ฟิลเลอร์ปลอม หรือไม่ได้มาตรฐาน: อาจทำให้เกิดการอักเสบ เป็นก้อน หรือไม่สามารถย่อยสลายได้
- ฉีดโดยหมอที่ไม่ชำนาญ หรือหมอกระเป๋า: เสี่ยงต่อการฉีดผิดชั้นผิว หรือฉีดเข้าเส้นเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ผิวเนื้อตาย (Necrosis) หรือในกรณีที่รุนแรงอาจถึงขั้นตาบอด
- ขาดการดูแลหลังทำที่ถูกต้อง: เช่น ไปทำเลเซอร์ซ้ำ หรือกดนวดแรงเกิน อาจทำให้ฟิลเลอร์เคลื่อนที่หรือเกิดผลลัพธ์ผิดรูปได้
ผลข้างเคียงของฟิลเลอร์มีกี่แบบ?
ผลข้างเคียงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ อาการทั่วไป (ปกติ) กับ อาการไม่ปกติ (ภาวะแทรกซ้อน)
- อาการทั่วไปหลังฉีดฟิลเลอร์ (พบได้บ่อย และหายได้เอง) อาการเหล่านี้มักจะหายได้เองใน 2–7 วัน และไม่ถือว่าอันตรายครับ เช่น
- บวมแดง บริเวณที่ฉีด (มักบวมที่สุดใน 24 ชั่วโมงแรก)
- ช้ำหรือเขียว จากรอยเข็มเล็กๆ
- เจ็บหรือระบมเล็กน้อย คล้ายเจ็บเมื่อโดนกดจุด
- ผิวไม่เรียบ / เป็นก้อนเล็กๆ ใน 1–2 วันแรก ซึ่งมักจะค่อยๆ เนียนเองเมื่อฟิลเลอร์เซ็ตตัว
- การดูแลหลังฉีด เพื่อช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นไว เช่น การประคบเย็น หรือหลีกเลี่ยงการกดนวดแรงๆ
- อาการผิดปกติ (ภาวะแทรกซ้อน) หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของ ภาวะฉีดผิดชั้น หรือเกิดปัญหากับเส้นเลือด ได้แก่
- เจ็บปวดรุนแรงผิดปกติ และปวดต่อเนื่อง
- ผิวซีด หรือเปลี่ยนสีเป็นม่วงคล้ำ/ดำ ซึ่งอาจบ่งบอกว่าเส้นเลือดถูกอุดตัน
- รู้สึกชาบริเวณที่ฉีด
- ตาพร่ามัว มองเห็นผิดปกติ หรือปวดตาเฉียบพลัน (พบได้น้อยมาก แต่เป็นภาวะฉุกเฉิน)
- มีหนองหรือผิวหนังบริเวณฉีดอักเสบแดงร้อน
อาการเหล่านี้หากรักษาทันทีมีโอกาสฟื้นกลับมาได้ดี แต่ถ้าปล่อยไว้อาจเกิดผลข้างเคียงระยะยาว เช่น ผิวตาย เส้นเลือดเสียหาย หรือทิ้งรอยแผลถาวรได้ครับ
วิธีป้องกันหรือจัดการกับผลข้างเคียง
การเตรียมตัวก่อนทำ การเลือกแพทย์ที่มีประสบการณ์ และการดูแลตัวเองหลังฉีด ล้วนมีผลต่อโอกาสในการเกิดผลข้างเคียง หมอจึงสรุปแนวทางทั้งในเชิง การป้องกันก่อนทำ และ การแก้ไขเมื่อมีอาการ
วิธีป้องกันผลข้างเคียงก่อนฉีด
- เลือกฟิลเลอร์แท้ที่ผ่าน อย. เท่านั้น ควรเป็น Hyaluronic Acid (HA) ที่สามารถสลายได้ และมีเอกสารกำกับชัดเจน
- ฉีดกับแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ แพทย์ที่เข้าใจโครงสร้างใบหน้า จะสามารถหลีกเลี่ยงเส้นเลือดและชั้นผิวที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้อย่างแม่นยำ
- งดทานยาและอาหารเสริมที่ทำให้เลือดหยุดยากก่อนทำ เช่น วิตามิน E, น้ำมันปลา, แอสไพริน เพื่อป้องกันการช้ำง่าย
- ตรวจสอบคลินิกให้ได้มาตรฐาน ใช้เข็มใหม่ อุปกรณ์ปลอดเชื้อ และมีระบบช่วยเหลือหากเกิดภาวะฉุกเฉิน
วิธีจัดการเมื่อเกิดอาการข้างเคียงเล็กน้อย
- บวม ช้ำ แดง ประคบเย็นเบาๆ ใน 24–48 ชม. แรก และงดการกดหรือแตะจุดที่ฉีด ส่วนใหญ่จะหายเองใน 3–7 วัน
- คลำเจอก้อนเล็กๆ / ผิวไม่เรียบ อย่านวดเอง ควรให้แพทย์ประเมินก่อน เพราะบางจุดอาจต้องปล่อยให้ฟิลเลอร์เซ็ตตัวเอง
วิธีจัดการเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
หากเกิดอาการผิดปกติ เช่น ผิวซีด เจ็บมาก ผิวม่วงคล้ำ หรือมีอาการทางสายตา ต้องรีบพบแพทย์ทันที แนวทางการแก้ไขอาการเบื้องต้นมีดังนี้
- ใช้ Hyaluronidase เป็นเอนไซม์สลายฟิลเลอร์ชนิด HA ซึ่งสามารถทำให้ฟิลเลอร์ละลายทันที
- ให้ยาขยายหลอดเลือด / ลดอักเสบเฉพาะกรณี เพื่อป้องกันเนื้อเยื่อตายหรือเส้นเลือดอุดตั
- ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด อาจนัดตรวจซ้ำใน 24–48 ชม. เพื่อประเมินว่าปลอดภัยดีหรือยัง
ฟิลเลอร์เห็นผลเมื่อไหร่? ต้องฉีดบ่อยแค่ไหน?
ฟิลเลอร์เป็นหัตถการที่สามารถเห็นผลลัพธ์ได้เร็วมาก โดยเฉพาะถ้าใช้ฟิลเลอร์แท้ชนิด Hyaluronic Acid (HA) ที่ได้รับการรับรองจาก อย. ซึ่งถูกออกแบบมาให้เข้ากับเนื้อเยื่อผิวและให้ผลลัพธ์ที่ดูเป็นธรรมชาติ
ฟิลเลอร์เห็นผลเมื่อไหร่?
- เห็นผลทันทีหลังฉีดเสร็จ ใบหน้าจะดูเต็มขึ้น ชัดเจนขึ้นในจุดที่เติม แต่ยังอาจมีอาการบวมเล็กน้อยซึ่งเป็นเรื่องปกติ
- ผลลัพธ์ที่แท้จริงจะชัดเจนใน 5 – 14 วัน หลังอาการบวมลดลง และฟิลเลอร์เริ่มเซ็ตตัวเข้ากับผิวดีขึ้น
- บางกรณีอาจนัดประเมินผลและปรับเติมในสัปดาห์ที่ 2 เพื่อให้ผลลัพธ์สมดุลที่สุด
ต้องฉีดบ่อยแค่ไหน?
ความถี่ในการฉีดฟิลเลอร์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยครับ เช่น ยี่ห้อที่ใช้ ตำแหน่งที่ฉีด และลักษณะผิวของแต่ละคน
ยี่ห้อฟิลเลอร์ | ระยะเวลาที่อยู่ได้โดยเฉลี่ย |
Juvederm Voluma | 12 – 18 เดือน |
Restylane Lyft | 10 – 14 เดือน |
Belotero Soft | 6 – 9 เดือน |
Neuramis / Dermalax | 6 – 9 เดือน |
หากเป็นบริเวณที่ขยับบ่อย เช่น ปาก ร่องแก้ม ฟิลเลอร์จะสลายเร็วกว่าจุดที่นิ่ง เช่น ขมับ คาง ใต้ตา
แล้วควรเติมซ้ำเมื่อไหร่?
แนะนำให้กลับมาตรวจประเมินก่อนที่ฟิลเลอร์จะสลายหมด เพื่อให้ผลลัพธ์ยังคงสวยอย่างต่อเนื่อง และไม่ต้องเติมในปริมาณมากซ้ำอีกครั้ง เช่น
- เติมซ้ำบางส่วนทุก 8 – 12 เดือน
- หากฉีดเพื่อปรับรูปหน้า แนะนำให้วางแผนระยะยาวร่วมกับแพทย์ อาจแบ่งเติมบางส่วนปีละ 1–2 ครั้ง แทนการฉีดครั้งเดียวในปริมาณมาก
ฟิลเลอร์ของแท้ดูยังไง?
“ฟิลเลอร์ของแท้” ไม่จำเป็นต้องแพงที่สุด แต่ต้องมีแหล่งที่มาชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้ เทคนิคการเช็กฟิลเลอร์ของแท้แบบง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้
เช็กจากกล่องฟิลเลอร์ก่อนฉีด
- ต้องมีฉลากภาษาไทย และขึ้นทะเบียน อย. อย่างถูกต้อง ดูเลขทะเบียน อย. (ขึ้นต้นด้วย "ว" หรือ "อย.") ต้องมีข้อมูลผู้นำเข้าและชื่อบริษัทที่ชัดเจน
- มี Serial Number และ Lot Number ตรงกันทั้งกล่องและหลอดยา ตัวเลขควรพิมพ์ชัดเจน ไม่หลุดลอก
- มี QR Code หรือสติกเกอร์ป้องกันการปลอมแปลง บางยี่ห้อสามารถสแกนเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้ทันที
- กล่องต้องปิดผนึกแน่นหนา ไม่บุบ ไม่เปิดก่อน คลินิกควรแกะกล่องต่อหน้าคนไข้ทุกครั้ง
สังเกตลักษณะของผลิตภัณฑ์
- หลอดฟิลเลอร์ต้องเป็นวัสดุใส มองเห็นเนื้อเจลข้างใน
- มีฉลากกำกับยี่ห้อ รุ่น และ Serial Number ตรงกับกล่อง
- บรรจุในแพ็กสูญญากาศ (Sterile Packaging)
คำถามที่ควรถามก่อนฉีด
- ฟิลเลอร์ยี่ห้ออะไร?
- ขอเห็นกล่องจริงก่อนฉีดได้ไหม?
- มีใบรับรองหรือบันทึกข้อมูลล็อตผลิตภัณฑ์หรือไม่?
- ฉีดกับแพทย์จริงใช่ไหม?
-
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมถ่ายรูปกล่อง + Serial Number เก็บไว้ทุกครั้งที่ฉีดด้วยนะครับ เพื่อความปลอดภัยในระยะยาว
สรุปฟิลเลอร์
ฟิลเลอร์ คือสารเติมเต็มที่ช่วยเติมเต็มร่องลึก ปรับรูปหน้า และฟื้นฟูความอ่อนเยาว์ให้ใบหน้าได้อย่างเป็นธรรมชาติ และปลอดภัยสูง สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติและไม่ตกค้างในร่างกาย เป็นหัตถการยอดนิยมสำหรับคลินิกความงาม เห็นผลทันทีหลังทำโดยไม่ต้องผ่าตัด เหมาะกับทั้งผู้ที่เริ่มมีริ้วรอย ไปจนถึงผู้ที่ต้องการปรับจุดเล็กๆ บนใบหน้าให้สมดุลมากขึ้น
การฉีดฟิลเลอร์เป็นหัตถการที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน สามารถปรับรูปหน้าได้หลายบริเวณ ให้ความเป็นธรรมชาติ และมีความปลอดภัยสูง ในบทความนี้หมอจะมาแนะนำให้รู้จักเกี่ยวกับฟิลเลอร์กันครับว่าฟิลเลอร์คืออะไร